วันศุกร์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2556



มาดูแลสุขภาพดวงตากันดีกว่า
          ดูแลดวงตาคู่สวยของคุณ
          การมองเห็นเป็นหนึ่งในประสาทสัมผัสที่เปิดโลกของเราให้กว้างขึ้น ตั้งแต่วัยเด็ก เราเรียนรู้สิ่งต่างๆ ผ่านการมองเห็นด้วยดวงตา จนเป็นผู้ใหญ่เราก็ใช้ดวงตา อย่างไม่หยุดพัก ทั้งในการทำงาน การหาความรู้ และดูสิ่งบันเทิง ดวงตาที่ถูกใช้งานอย่างหนักก็ย่อมต้องเสื่อมลงไปตามกาลเวลาเมื่ออายุมากขึ้น สุดท้ายแล้ว ปัญหาสายตาที่เกิดขึ้นอาจทำให้การมองเห็นโลกของเราไม่สดใสเหมือนเดิม
 
          ลักษณะชีวิตสมัยใหม่ทำให้เราใช้งานดวงตาหนักขึ้น อาการที่บอกว่า เราใช้งานดวงตาหนักเกินไปได้แก่ กล้ามเนื้อตาล้า ตาแห้ง แสบตา ไม่สามารถโฟกัสภาพให้ชัด เห็นภาพซ้อน และอาการยังไม่ได้จำกัด เฉพาะที่ดวงตาเท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดอาการปวดศีรษะได้อีกด้วย สาเหตุของอาการตาล้าตาเหนื่อย ที่ทราบกันดีก็คือ การดูโทรทัศน์ เป็นเวลานาน การอ่านหนังสือในสภาพแสงที่ไม่เหมาะสมและ การทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ตลอดวันจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต พนักงานออฟฟิศ และที่สำคัญคือ การใช้โทรศัพท์สมาร์ทโฟนและ แท็บเล็ตที่หลายๆ คน ไม่เว้นเด็กๆ ติดจนงอมแงม ซึ่งแสงจ้าจาก อุปกรณ์ การกะพริบตาที่น้อยลงขนาดตัวหนังสือที่เล็กจนต้องเพ่ง รวมทั้งท่าทางการเล่นที่เรามักถือขึ้นมาใกล้หรือก้มลงไปจนเกือบ ชิดหน้าจอ ล้วนส่งผลให้ตาล้า และปัญหานี้พบเพิ่มมากขึ้น เรื่อยๆในทุกกลุ่มอายุ ซึ่งวิธีการป้องกันอาการตาล้าที่ดีที่สุดคือ การพักสายตาบ่อยๆ ด้วยการมองออกไปไกลๆ ประมาณ 20 วินาที รวมทั้งหมั่นกะพริบตา เพื่อไม่ให้ตาแห้ง
          เมื่ออายุเพิ่มขึ้นสุขภาพดวงตาก็ร่วงโรยตามไปด้วย ทำให้มีโอกาสที่จะประสบกับปัญหาสายตามากขึ้น โดยเฉพาะต้อกระจก และจอประสาทตาเสื่อมเนื่องจากวัย (Age-related Macular Degeneration, AMD) ซึ่งในวัยนี้การมองเห็นมีความสำคัญต่อ การคุณภาพชีวิตโดยเฉพาะในแง่ของการป้องกันอุบัติเหตุ เช่น การสะดุดล้ม และอุบัติเหตุบนท้องถนน  
 
          ต้อกระจก
          เป็นการหนาตัวของเลนส์ตา ทำให้เลนส์ตา เปลี่ยนจากใสเป็นขุ่นมัวในผู้สูงอายุ ต้อกระจกทำให้การมองเห็นลดลงจนอาจตาบอดได้ ซึ่งสาเหตุมาจากรังสียูวีในแสงอาทิตย์การทำลายจากอนุมูลอิสระ การบาดเจ็บการติดเชื้อไวรัส สารพิษ พันธุกรรม และปัจจัยที่สำคัญก็คืออายุที่มากขึ้นนั่นเอง 
          จอประสาทตาเสื่อม
          มักพบในผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี เกิดจากการเสื่อมของจุดรับภาพที่อยู่กลางจอประสาทตาเสื่อมลง อาการจึงมองเห็นภาพตรงกลางไม่ชัด แต่ยังมองเห็นขอบของภาพได้ มองเห็นภาพบิดเบี้ยวหรือมองเห็นเส้นตรงเป็นเส้นขาดและถ้าจอประสาทตาเสียไปทั้งหมดจะทำให้สูญเสียการมองเห็นในที่สุด ปัจจัยเสี่ยงก็เช่นเดียวกับต้อกระจกคือ แสงแดด และการทำลายจากอนุมูลอิสระ 
          เราไม่สามารถหยุดใช้งานดวงตาและห้ามความแก่ไม่ได้ แต่เราสามารถถนอมดวงตาคู่สวยของเราให้มีสุขภาพดีได้ ซึ่งป้องกันได้ด้วยหลากหลายวิธี เริ่มจาก
          หลีกเลี่ยงรังสียูวีในแสงแดด ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดอนุมูลอิสระ ด้วยการสวมแว่นกันแดดเมื่อต้องอยู่ในที่แจ้ง
          งดสูบบุหรี่และหลีกเลี่ยงควันบุหรี่
          ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หากมีโรคประจำตัวที่เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคตา เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ควรควบคุมโรคประจำตัวให้อยู่ ในเกณฑ์ปกติ
          พบจักษุแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพตาเป็นระยะ หรืออย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
 
           อาหารที่เรากินก็มีส่วนสำคัญต่อการปกป้องดวงตาเมื่อเราทราบแล้วว่าอนุมูลอิสระ ก่อความเสื่อมให้กับดวงตา ดังนั้นผักผลไม้หลากสีที่อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ จึงส่งผลดีอย่างยิ่งต่อสุขภาพดวงตา
          อาหารที่เรากินก็มีส่วนสำคัญต่อการปกป้อง ดวงตา เมื่อเราทราบแล้วว่าอนุมูลอิสระก่อความเสื่อมให้กับดวงตา ดังนั้นผักผลไม้ หลากสีที่อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระจึงส่งผลดีอย่างยิ่งต่อสุขภาพดวงตา โดยเฉพาะไฟโตนิวเทรียนท์ในกลุ่มแคโรทีนอยด์ที่ชื่อว่า ลูทีน (Lutein) ซีแซนทีน (Zeaxanthin) และเบต้าแคโรทีน (Beta-carotene) ซึ่งลูทีนและ ซีแทนทีนพบมากในสารสกัดจากดอกดาวเรือง สปิแนชหรือผักโขม ข้าวโพดเหลือง ฟักทอง และผักใบสีเขียวเข้มอื่นๆ จะช่วยปกป้อง ดวงตาด้วยการดูดกลืนแสง สีน้ำเงินและรังสียูวีที่เป็นอันตราย รวมทั้งป้องกันไม่ให้อนุมูลอิสระ ทำลายเซลล์ จอตา
          ส่วนเบต้าแคโรทีน ซึ่งพบมากในแครอท และพริกหวานสีแดงเป็นสารตั้งต้นของวิตามินเอในร่างกาย ซึ่งวิตามินเอมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อดวงตา ช่วยป้องกันอาการตาบอดกลางคืนและการคงรูปของดวงตา และถึงแม้เบต้าแคโรทีนจะไม่ได้ถูกเปลี่ยนเป็นวิตามินเอทั้งหมด แต่ก็ยังมีคุณสมบัติเป็นสาร ต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยปกป้องดวงตา ส่วนไฟโตนิวเทรียนท์เป็นอีกกลุ่มที่มีประโยชน์ต่อดวงตา คือ กลุ่มแอนโธไซยาโนไซด์ ที่พบมากในพืชสีแดง ม่วง และ น้ำเงินเข้ม เช่น บิลเบอร์รี และแบล็คเคอร์เรนต์ ที่จะช่วยให้การมองเห็นภาพคมชัดขึ้น ปกป้องหลอดเลือดฝอยของดวงตาและต้านอนุมูลอิสระ
          นอกจากนี้ อาหารอื่นๆ ที่ดีต่อสุขภาพดวงตา ได้แก่ อาหารที่มีดีเอชเอสูง เช่น ปลาทะเลที่มีไขมันอาหาร ที่มีสังกะสีสูง เช่น อาหารทะเล โดยเฉพาะหอยนางรม และ อาหารที่มีวิตามินอีสูง เช่น ถั่วเปลือกแข็ง เป็นต้น
 
           ความเสื่อมของดวงตาหากเกิดขึ้นแล้วคงยากที่จะย้อนกลับไปดีดังเดิม อย่าปล่อยให้พฤติกรรมทำร้ายดวงตาอย่างซ้ำๆ โดยไม่ดูแลลงมือเปลี่ยน ตั้งแต่วันนี้ และใส่ใจเลือกอาหารที่ดีเพื่อสุขภาพและเพื่อดวงตาที่สดใสของคุณ
ที่มา....................Nutrilite

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Read more: http://tomatoessource.blogspot.com/2013/05/numbered-page-navigation.html#ixzz2bMvm5uKk IT Blog Program Tools Tricks